อัตลักษณ์ : เก่ง ดี มีคุณธรรม                            เอกลักษณ์ : บริการวิชาชีพสู่ชุมชน

ตรา

วิทยาลัยเทคนิคจะนะ
ข้อมูลพื้นฐานจังหวัดสงขลา

ประวัติจังหวัดสงขลา

          " สงขลา " ตั้งอยู่ฝั่งตะวันออกของประเทศไทยมาแต่สมัยโบราณ มีชุมชนโบราณและเมืองเก่าแก่ มีโบราณสถาน โบราณวัตถุ ขนบธรรมเนียมประเพณี และการละเล่นพื้นเมือง ศิลปพื้นบ้านเป็นมรดกทางวัฒนธรรมสงขลาเพิ่งปรากฏเป็นครั้งแรกในบันทึกของพ่อค้าและนักเดินเรือชาวอาหรับ-เปอร์เซีย ระหว่าง ปี พ.ศ.1993-2093 ในนามของเมืองซิงกูร์ หรือซิงกอร่า แต่ในหนังสือประวัติศาสตร์ธรรมชาติและการเมืองแห่งราชอาณาจักรสยาม ของนายกิโลลาส แซร์แวส เรียกชื่อเมืองสงขลา ว่า "เมืองสิงขร" จึงมีการสันนิษฐานว่า คำว่า สงขลา เพี้ยนมาจากชื่อ "สิงหลา" (อ่าน สิง-หะ-ลา) หรือสิงขร

snonkhla5                   songkhla6

           เหตุผลที่สงขลามีชื่อว่า สิงหลา แปลว่าเมืองสิงห์ โดยได้ชื่อนี้มาจากพ่อค้าชาวเปอร์เซีย อินเดีย แล่นเรือมาค้าขาย ได้เห็นเกาะหนู เกาะแมว เมื่อมองแต่ไกล จะเห็นเป็นรูปสิงห์สองตัวหมอบเฝ้าปากทางเข้าเมืองสงขลา ชาวอินเดียจึงเรียกเมืองนี้ว่า สิงหลา ส่วนไทยเรียกว่า เมืองสทิง เมื่อมลายูเข้ามาติดต่อค้าขายกับเมืองสทิง ก็เรียกว่า เมืองสิงหลา แต่ออกเสียงเพี้ยนเป็นสำเนียงฝรั่งคือ เป็นซิงกอร่า (Singora) ไทยเรียกตามเสียงมลายูและฝรั่งเสียงเพี้ยนเป็นสงขลา อีกเหตุผลหนึ่งอ้างว่า สงขลาเพี้ยนมาจาก "สิงขร" แปลว่า ภูเขา โดยอ้างว่าเมืองสงขลาตั้งอยู่บริเวณเชิงเขาแดง ต่อมาได้มีการพระราชทานนามเจ้าเมืองสงขลาว่า "วิเชียรคีรี" ซึ่งมีความหมายสอดคล้องกับลักษณะภูมิประเทศ

            สงขลา เป็นเมืองประวัติศาสตร์ มีเรื่องราวสืบต่อกันตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ มีการค้นพบหลักฐาน ได้แก่ ขวานหิน ซึ่งเป็นเครื่องมือสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ที่อำเภอสทิงพระ ประวัติ ความเป็นมา และวัฒนธรรมสมัยที่เมืองสทิงพระเจริญ เค บูรล์เบท ได้ให้ทัศนะว่า สทิงพระ คือศูนย์กลางของอาณาจักรเซี้ยะโท้หรือเซ็กโท เป็นแหล่งหนึ่งในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ได้รับวัฒนธรรมอินเดียโดยตรงในสมัยอาณาจักรศรีวิชัย เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 7 ศตวรรษ เพราะมีร่อยรอยทางสถาปัตยกรรม ประติมากรรม ที่แสดงให้เห็นว่าเมืองสทิงพระเป็นศูนย์กลางการปกครองดินแดน รอบ ๆ ทะเลสาบสงขลาในสมัยนั้น

            ในพุทธศตวรรษที่ 19 ชื่อเมืองสทิงพระเริ่มเลือนหายไป และเกิดชุมชนแห่งใหม่ใกล้เคียงขึ้นแทน เรียกว่า "เมืองพัทลุงที่พะโคะ" ได้เจริญรุ่งเรืองเป็นศูนย์กลางทางพุทธศาสนาลัทธิลังกาวงศ์ ต่อมาระหว่างพุทธศตวรรษที่ 20-22 พวกโจรสลัดมลายูได้เข้าคุกคามบ่อย ๆ ทำให้เมืองพัทลุงที่พะโค๊ะค่อย ๆ เสื่อม หลังจากนั้นเกิดชุมชนขนาดใหญ่ขึ้น 2 แห่ง บริเวณรอบทะเลสาบสงขลา คือ บริเวณเขาแดงปากทะเลสาบสงขลา และได้กลายเป็นเมืองสงขลาริมเขาแดง และอีกแห่งที่บางแก้ว อำเภอเขาชัยสน จังหวัดพัทลุง และกลายเป็นเมืองพัทลุง ระหว่างปี พ.ศ.2162-2223 เมืองสงขลาริมเขาแดงมีความเจริญด้านการค้าขายกับต่างประเทศ โดยมีเจ้าเมืองเชื้อสายมลายูอพยพมาจากอินโดนีเซีย พวกมลายูเหล่านี้ได้หลบหนีการค้าแบบผูกขาด ของพวกดัทช์มาเป็นการค้าแบบเสรีที่สงขลา โดยมีอังกฤษ์เป็นผู้สนับสนุนอยู่เบื้องหลัง ในระยะแรกระหว่าง ปี พ.ศ.2162-2185 เจ้าเมืองสงขลาเป็นมุสลิม หลังจากนั้นในช่วงปี พ.ศ.2185-2223 เจ้าเมืองสงขลาเป็นกบฎไม่ยอมขึ้นต่อกรุงศรีอยุธยา ในที่สุดจึงถูกสมด็จพระนารายณ์มหาราชปราบปรามจนราบคาบ และถูกปล่อยให้ทรุดโทรม และตกเป็นเมืองขึ้นของเมืองพัทลุง จนถึงช่วงปี พ.ศ.2242-2319 เมืองสงขลาไปตั้งขึ้นใหม่ที่บริเวณบ้านแหลมสน เรียกว่า เมืองสงขลาฝั่งแหลมสน ตั้งอยู่ตรงข้ามกับที่ตั้งตัวเมืองสงขลาปัจจุบัน

songkhla1                     songkhla2

             เมืองสงขลาได้พัฒนาเป็นหัวเมืองขนาดใหญ่ ในสมัยกรุงธนบุรี และสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น เมื่อ พ.ศ.2310 ประเทศสยามเสียกรุงศรีอยุธยาแก่พม่า ได้เกิดก๊กต่าง ๆ ขึ้น เจ้าพระยานคร ซึ่งตั้งตัวเป็นใหญ่ ได้ตั้ง นายวิเถีย ญาติมาเป็นเจ้าเมือง เมื่อพระเจ้ากรุงธนบุรีปราบก๊กเจ้านครได้แต่งตั้งให้ จีนเหยี่ยง แซ่เฮ่า ซึ่งเป็นนายอากรรังนก เป็นเจ้าเมืองในปี 2318 ได้รับพระราชทินนามเป็น "หลวงสุวรรณคีรีสมบัติ" (ต้นตระกูล ณ สงขลา) เชื้อสายของตระกูลนี้ได้ปกครองเมืองสงขลาติดต่อกันมาไม่ขาดสายถึง 8 คน (พ.ศ.2318-2444)จนกระทั่ง ปี พ.ศ.2379 สมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ (สมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว) โปรดเกล้าให้พระยาวิเชียรคีรี (เถี้ยนเส้ง) ก่อสร้างป้อมกำแพงเมือง ระหว่างที่ก่อสร้าง ตวนกู อาหมัดสะอัด ชักชวนหัวเมืองไทรบุรี ปัตตานี และหัวเมืองทั้ง 7 ยกมาตีสงขลา เมื่อปราบปรามขบถเรียบร้อยแล้ว จึงได้สร้างป้อม และกำแพงเมืองสงขลาจนเสร็จ และได้จัดให้มีการฝังหลักเมืองและได้ย้ายเมืองสงขลามายังฝั่งตะวันออกของแหลมสน "ตำบลบ่อยาง" คือ ในเขตเทศบาลนครสงขลา ปัจจุบัน

songkhla3                           songkhla4

          ครั้นถึงในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีการปฏิรูปการปกครอง ได้ทรงจัดตั้งมณฑลเทศาภิบาลขึ้น และได้ส่งพระวิจิตรวรสาสน์ (ปั้น สุขุม) ลงมาเป็นข้าหลวงพิเศษตรวจราชการเมืองสงขลา ในปี พ.ศ.2438 เป็นแห่งแรก และในปี พ.ศ.2439 จึงได้จัดตั้งมณฑลนครศรีธรรมราช (พ.ศ.2439-2458) และเป็นที่ตั้งศาลาว่าการภาคใต้ (พ.ศ.2458-2468) นอกจากนี้เมืองสงขลาเคยเป็นที่ประทับของสมเด็จพระบรมวงศ์เธอกรมหลวงลพบุรีราเมศวร์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง สมุหเทศาภิบาลและอุปราชภาคใต้ จนสิ้นสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ครั้นถึงปี พ.ศ.2475 ได้มีการยุบมณฑลและภาค เปลี่ยนเป็นจังหวัด สงขลาจึงเป็นจังหวัดหนึ่งในภาคใต้จนถึงปัจจุบัน

ตราสัญลักษณ์

logoSongkhla

          รูปหอยสังข์บนพานแว่นฟ้า หมายถึง รูปหอยสังข์ซึ่งยังค้นหา หลักฐานของความหมายได้ไม่แน่ชัด แต่บุคคลบางคนบอกที่มาของตราประจำจังหวัดนี้ว่า เดิมเคยเป็นตรากระดุมเสื้อฉลองพระองค์ ของกรมหลวงสงขลานครินทร์ สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร์อดุยเดชวิกรมบรมชนกนาถ ต่อมากรมศิลปากร ออกแบบตราสังข์ ใช้เป็นเครื่องหมายตราจังหวัดสงขลา

แผนที่จังหวัดสงขลา

mapSongkhla

 

ที่มา : http://www.songkhla.go.th/

JSN Epic is designed by JoomlaShine.com